สเปนภายใต้ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ของ ประวัติศาสตร์สเปน

จักรวรรดิที่ทรงอำนาจของสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดและเสื่อมลงภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (House of Habsburg; Casa de Habsburgo) โดยแผ่ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 1[55] ซึ่งพระองค์ยังทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire; Sacro Imperio Romano Germánico) ในดินแดนเยอรมันและออสเตรียอีกด้วย โดยเฉลิมพระนาม "จักรพรรดิชาลส์ที่ 5"

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 หนึ่งในกษัตริย์ยุโรปที่ทรงอำนาจมากที่สุดระหว่างรัชสมัยของพระองค์

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 (จักรพรรดิชาลส์ที่ 5) เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าฟิลิปที่ 1 แห่งสเปน (เจ้าชายฟิลิป
รูปหล่อ พระราชโอรสในจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก) และสมเด็จพระราชินีนาถโจแอนนาแห่งกัสติยา (เจ้าหญิงโจแอนนา พระราชธิดาพระองค์ที่สองในพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอน และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 แห่งกัสติยาแห่งราชวงศ์ตรัสตามารา) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนในปี ค.ศ. 1516 นับแต่นั้นมาสเปนก็เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในหมู่กษัตริย์ของยุโรปมากยิ่งขึ้น พระองค์ไม่ได้ประทับในสเปนบ่อยนัก ในปลายรัชสมัย พระองค์ได้ทรงเตรียมการแบ่งมรดกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งคือ จักรวรรดิสเปน ซึ่งรวมทั้งเนเปิลส์ มิลาน เนเธอร์แลนด์ และอาณานิคมในทวีปอเมริกาด้วย และอีกส่วนคือตัวจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เองรวมทั้งออสเตรีย

ผู้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์สเปนหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1556 คือ
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง สเปนรอดพ้นจากความขัดแย้งทางศาสนาซึ่งกำลังลุกลามไปทั่วทุกดินแดนส่วนอื่น ๆ ของยุโรปในขณะนั้นและสามารถธำรงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไว้ได้ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์ให้กับคาทอลิกโดยทรงต่อต้านทั้งพวกเติร์กออตโตมันและพวกนับถือลัทธินอกรีต ในคริสต์ทศวรรษ 1560 แผนการที่จะควบคุมเนเธอร์แลนด์ให้มั่นคง (ความพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง) ได้นำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งภายหลังเกิดกลุ่มผู้นำการลุกขึ้นต่อต้านซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ลัทธิกาลแวง (นิกายโปรเตสแตนต์สาขาหนึ่ง) และเกิดสงครามแปดสิบปี (ค.ศ. 1568-1648) ขึ้น ความขัดแย้งนี้ทำให้สเปนสูญเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมากจึงพยายามที่จะไปยึดครองอังกฤษ (ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนชาวดัตช์ให้ลุกฮือขึ้น) แต่กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปนกลับประสบความพ่ายแพ้ในสงครามอังกฤษ-สเปน (ค.ศ. 1585-1604 เป็นส่วนหนึ่งของสงครามแปดสิบปี) และสงครามระหว่างสเปนกับฝรั่งเศส (ค.ศ. 1590-1598)

ภาพวาดเรือรบสเปนถูกกองทัพเรือดัตช์ทำลายระหว่างยุทธการที่อ่าวยิบรอลตาร์ ค.ศ. 1607 โดยเฮนดริค คอร์เนลิส วโรม (ผู้พ่อ)ภาพวาดเรือรบสเปนกำลังต่อสู้กับโจรสลัด ค.ศ. 1615 โดยคอร์เนลิส เฮนดริคส์ วโรม (ผู้ลูก)

แม้จะเกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น แต่การหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแร่เงินจากอเมริกาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งกิตติศัพท์ของทหารราบและการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกองทัพเรือหลังจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการรบกับอังกฤษ ทำให้สเปนกลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป สหภาพไอบีเรียซึ่งรวมโปรตุเกสไว้ด้วยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1580 ไม่เพียงแต่ทำให้ดินแดนทั้งหมดบนคาบสมุทรไอบีเรียกลายเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มแหล่งทรัพยากรทั่วโลกให้กับสเปนอีกด้วย (เช่นที่บราซิลและอินเดีย) อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจและการบริหารก็เพิ่มขึ้นในแคว้นกัสติยา ส่งผลให้ในศตวรรษถัดมาเกิดปัญหาเงินเฟ้อ การขับไล่ชาวยิวและชาวมัวร์ และภาวะพึ่งพิงการนำเข้าเงินและทองคำ ทั้งหมดรวมกันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะในแคว้นที่ต้องรับภาระหนักอย่างกัสติยา

หมู่บ้านชายฝั่งต่าง ๆ ของสเปนและหมู่เกาะแบลีแอริกมักถูกโจรสลัดบาร์บารีจากแอฟริกาเหนือเข้าปล้นสะดมและโจมตีเสมอ ๆ เกาะฟอร์เมนเตรารวมทั้งชายฝั่งซึ่งเป็นแนวยาวของสเปนและอิตาลี (ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากรังของโจรสลัดบนชายฝั่งแอฟริกาเหนือเป็นระยะทางไม่มากนัก) เกือบทั้งหมดแทบไม่มีผู้คนหลงเหลืออยู่ โจรสลัดที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ บาร์บารอสซา ("เคราแดง") ซึ่งเป็นชาวเติร์ก ชาวยุโรปจำนวนมากถูกจับและขายเป็นทาสในแอฟริกาเหนือและจักรวรรดิออตโตมันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัญหานี้ค่อย ๆ คลายความรุนแรงลงเมื่อสเปนและมหาอำนาจชาวคริสต์อื่น ๆ เริ่มตรวจสอบอำนาจของกองทัพเรือมุสลิมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลังได้รับชัยชนะที่อ่าวลีพานโตเมื่อปี ค.ศ. 1571[56]

ในปี ค.ศ. 1596-1602 เกิดกาฬโรคระบาดอย่างหนักในแคว้นกัสติยา คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 600,000 ถึง 700,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด[57] พระเจ้าฟิลิปที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1598 และพระเจ้าฟิลิปที่ 3 พระราชโอรสก็ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์ ข้อตกลงสงบศึกกับชาวดัตช์ (ในสงครามแปดสิบปี) ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีได้สิ้นสุดลง และสเปนก็เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-1648 เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีสุดท้ายของสงครามแปดสิบปี)

พระเจ้าฟิลิปที่ 4 ทรงสืบทอดราชสมบัติสเปนต่อจากพระเจ้าฟิลิปที่ 3 ผู้เป็นพระราชบิดาในปี ค.ศ. 1621 นโยบายการบริหารส่วนใหญ่ดำเนินการโดยอัครมหาเสนาบดีกัสปาร์ เด กุซมัน อี ปีเมนตัล เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลีบาเรส ในปี ค.ศ. 1640 ในขณะที่การรบ (สงครามสามสิบปี) ในยุโรปกลางยังไม่มีผู้ชนะโดยเด็ดขาดยกเว้นฝรั่งเศส ทั้งโปรตุเกสและกาตาลุญญาได้ก่อการจลาจลขึ้น สเปนต้องเสียโปรตุเกสไปอย่างถาวร ส่วนในอิตาลีและกาตาลุญญานั้น กองกำลังของฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกไปและความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของกาตาลุญญาก็ถูกปราบปราม นอกจากนี้ ก็เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอกของกาฬโรคทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของคาบสมุทรในช่วงปี ค.ศ. 1647-1652 หลังจากนี้ก็เกิดการระบาดขึ้นอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งศตวรรษ ปรากฏว่าในสเปนรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1,250,000 คนจากกาฬโรคที่แพร่ระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้[57]

ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระราชโอรสในพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ซึ่งทรงมีพัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้านั้น[58] สเปนสูญเสียความเป็นผู้นำในยุโรปและค่อย ๆ ลดฐานะลงเป็นชาติมหาอำนาจชั้นรอง ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตโดยยังไม่ทรงมีรัชทายาท เจ้าชายฟิลิป ดุ๊กแห่งอองชู ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บง (House of Bourbon; Casa de Borbón) จากฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในผู้มีกรรมสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนและเฉลิมพระนาม "พระเจ้าฟิลิปที่ 5" แต่ก็ถูกต่อต้านจากมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ ปรัสเซีย ซาวอย และเดนมาร์ก-นอร์เวย์ โดยเฉพาะจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทรงอ้างกรรมสิทธิ์ในการปกครองสเปนเช่นกัน ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (ค.ศ. 1701-1714) ขึ้น สงครามสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งให้พระเจ้าฟิลิปที่ 5 นั้นทรงปกครองสเปนต่อไป จึงถือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรง "ชนะ" สงครามนี้ในที่สุด และในการนี้จึงก่อให้เกิดราชวงศ์บูร์บงสายสเปนขึ้น ในขณะที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปนได้ยุติบทบาทลงหลังจากปกครองประเทศมาร่วม 200 ปี[59] อย่างไรก็ตาม สเปนก็ต้องเสียเนเธอร์แลนด์ มิลาน เนเปิลส์ และเกาะซาร์ดิเนียให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เสียเกาะซิซิลีให้ซาวอย และเสียยิบรอลตาร์และเกาะเมนอร์กาให้อังกฤษตามสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ชาติมหาอำนาจใดในยุโรปมีอำนาจมากเกินไป จักรวรรดิสเปนจึงมีพื้นที่และอาณาเขตในทวีปยุโรปน้อยลงมาก

ยุคทอง

โตเลโด โดยเอลเกรโก

ยุคทองของสเปน ("ซีโกลเดลโอโร" ในภาษาสเปน) เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและอักษรศาสตร์ในจักรวรรดิสเปน (ปัจจุบันคือประเทศสเปนและประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการในภูมิภาคลาตินอเมริกา) ร่วมสมัยกับการเสื่อมถอยทางการเมืองของสเปนในรัชสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 3 พระเจ้าฟิลิปที่ 4 และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 นักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของยุค คือ คัวนา อีเนส เด ลา กรุซ ถึงแก่กรรมในนิวสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1695

ราชวงศ์ฮับส์บูร์กทั้งในสเปนและออสเตรียต่างก็เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ในประเทศของตน เอลเอสโกเรียล อารามหลวงที่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงสั่งให้สร้างขึ้นนั้นได้ดึงดูดความสนใจจากสถาปนิกและจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปจำนวนหนึ่ง เดียโก เบลัซเกซ จิตรกรที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรปได้สร้างไมตรีกับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 และอัครมหาเสนาบดีในพระองค์ (เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลีบาเรส) เบลัซเกซวาดรูปคนเหมือน (portrait) อันแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและทักษะของเขาไว้ให้เราได้ศึกษา ส่วนเอลเกรโก ศิลปินสเปนซึ่งเป็นที่นับถืออีกคนหนึ่งก็เป็นผู้ที่นำรูปแบบศิลปะเรอเนซองซ์แบบอิตาลีเข้ามาผสมผสานกับศิลปะสเปน และช่วยสร้างสรรค์รูปแบบจิตรกรรมสเปนให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ผลงานดนตรีชิ้นเยี่ยมของสเปนจำนวนหนึ่งคาดว่าได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในยุคนี้ นักประพันธ์เพลง เช่น โตมัส ลุยส์ เด บิกโตเรีย, ลุยส์ เด มีลัน และอาลอนโซ โลโบ ได้ช่วยทำให้ดนตรีเรอเนซองซ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และอิทธิพลของพวกเขายังส่งผลมาถึงในสมัยบาโรก

วงการวรรณกรรมของสเปนก็เฟื่องฟูในยุคนี้เช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ ผลงานที่มีชื่อเสียงของมีเกล เด เซร์บันเตส ผู้ประพันธ์ ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า หรือโลเป เด เบกา ซึ่งเป็นนักเขียนบทละครที่มีผลงานมากที่สุดของสเปน เขียนบทละครมากถึงประมาณ 1,000 เรื่องในช่วงชีวิตของเขา และมากกว่า 400 เรื่องในจำนวนนั้นยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...